11 กุมภาพันธ์ 2555

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

  อนุสาวรีย์ ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นที่เคารพสักการะของชาวภูเก็ต อนุสาวรีย์ของสองวีรสตรีของไทย ตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่ในชุดโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มตะเบง-มาน มือทั้งสองถือดาบ ซึ่งวีรกรรมและผลงานของท่านนับเป็นแบบอย่างของหญิงไทย ที่ได้รับการยกย่องเป็นวีรสตรีเมืองถลาง



  ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นวีรสตรีไทยที่ป้องกันเมืองถลางให้พ้นจากข้าศึกได้ในสงครามเก้าทัพ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สงครามเก้าทัพแบ่งออกเป็นการโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นห้าทิศทาง

ทัพที่หนึ่ง แบ่งออกเพื่อตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองระนองจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ทัพที่สอง เข้ามาทางหัวเมืองราชบุรี เพื่อที่จะรวบรวมกำลังพลกับกองทัพที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วค่อยโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์
ทัพที่สาม และสี่ เข้ามาทางด่านแม่ละเมาแม่สอด
ทัพที่ห้า ถึงเจ็ด เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตีตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมา สมทบกับทัพที่สาม และสี่ ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเพื่อเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์
ทัพที่แปด และเก้า เป็นทัพหลวงพระเจ้าผดุงเป็นผู้คุมทัพ โดยมีกำลังพลมากที่สุดถึง ห้าหมื่นนาย ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือและใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ารบกับกรุงเทพมหานคร
  เวลานั้นทางฝ่ายไทยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวบรวมกำลังไพรพลได้เพียง เจ็ดหมื่นนาย มีกำลังน้อยกว่ากองทัพพระเจ้าพม่าถึงสองเท่า แต่ยังดีที่ทหารเหล่านี้เป็นทหารชั้นดีที่ผ่านการทำศึกสงครามมาแล้วอย่างโชกโชน ตั้งแต่การรบสมัยกรุงธนบุรี เรียกได้ว่าเป็นทหารเดนตายอย่างแท้จริง
แผนการรบของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือจัดกองทัพออกเป็นสี่ทัพ ทัพที่หนี่งให้จัดไปรับกองทัพพม่าทางเหนือที่นครสวรรค์ ทัพที่สองยกไปรับพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพนี้เป็นทัพใหญ่ มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ คอยรับทัพหลวงของพระเจ้าผดุง ที่เข้ามาทางด่านพระเจดีสามองค์ ทัพที่สามยกไปรับทัพพม่าที่มาจากทางใต้ที่เมืองราชบุรี ทัพที่สี่เป็นทัพหลวงโดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นผุ้คุมทัพคอยเป็นกำลังหนุน เมื่อทัพไหนเพลี่ยงพล้ำก็จะคอยเป็นกำลังหนุน
  เมื่อเวลาศึกสงครามมาถึง สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้กองยกทัพไปที่หัวเมืองราชบุรี ตั้งรับไม่ให้กองทัพพม่ารวบรวมกำลังพลกันได้ นอกจากนี้ยังจัดกำลังไปกำลังการลำเลียงเสบียงของพม่า เพื่อให้กองทัพขาดเสบียงอาหาร แล้วยังใช้อุบายโดยการถอยกำลังออกในเวลากลางคืน พอรุ่งเช้าก็ให้ทหารเข้ามาผลัดเวรเพื่อให้เห็นว่ามีกำลังเพิ่มเติมอยู่เสมอ เมื่อทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอาหาร ประจวบกับคิดว่ากองกำลังของฝ่ายไทยมีมากกว่า จึงไม่กล้าจะบุกเข้ามาโจมตี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เมื่อสบโอกาสเห็นฝ่ายข้าศีกไม่เด็ดขาดในการทำศีก ก็ทำการตีกองทัพพม่าจนถอยร่น ด้านพระเจ้าผดุง เมื่อเห็นว่าไม่สามารถบุกโจมตีต่อได้ ประจวบกับกองทัพขาดเสบียงอาหารจึงถอยทัพกลับ
  ส่วนทัพที่บุกมาทางแม่ละเมามีกำลังมากกว่าจึงสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ แต่เมื่อเสร็จศึกทางด้านพระเจดีย์สามองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเสด็จไปช่วยหัวเมืองฝ่ายเหนือ ส่วนทางปักษ์ใต้ทัพพม่าได้โจมตีเมืองระนองไปจนถึงเมืองถลาง และเกือบจะตีหัวเมืองทางใต้ของสยามได้เต็มแก่ แต่สุดท้ายก็ต้องล่าถอยเพราะสองสตรีคุณหญิงจันและคุณมุก
  คุณจันเป็นบุตรีคนแรกของจอมร้างบ้านเคียน ทั้งนี้จอมร้างหมายถึงข้าราชการที่ทำคุณงามความดีไว้มากมาย ได้รับการยกย่องจากทุกสารทิศ แต่ไม่ได้รับยศถาบันดาศักดิ์ ซึ่งบิดาของคุณจันนั้นรับราชการในพื้นที่บ้านเคียน จึงมีชื่อบ้านเคียนต่อท้าย คุณจันมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันห้าคน ตัวคุณจันสมรสกับพระยาสุรินทราชาพิมลอัยา มีบุตรทั้งสิ้นสี่คน ตามหลักฐานระบุว่าคุณจันเป็นผู้ประกอบด้วยคุณงามความดี มีอัทยาศัยสุภาพอ่อนโยม และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สมกับเป็นบุตรของจอมร้างบ้านเคียน จึงเป็นที่สนิทเสน่หาของพระบิดาและวงศ์ญาติทั้งหลาย เมื่อบิดามารดาแก่เฒ่า คุณจันก็ได้รับภาระปกครองผู้คนบ่าวไพร่และดูแลการภายในครอบครัวแทนบิดามารดาโดยสิทธิ์ขาด
  ด้านคุณมุก เป็นน้องของคุณจัน มีกริยาสุภาพอ่อนโยน ทั้งมีสติปัญญาความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่น้อยกว่าคุณจันผู้พี่ เมื่อจอมร้างบ้านเคียนถึงแก่กรรมลง พระถลางอาดบุตรชายและน้องชายท่านผู้หญิงจันได้ครองเมืองถลาง ครองได้ไม่นานก็ถูกผู้ร้ายยิงตาย หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กพระยานครได้ประมาณ 7 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทราชาพิมลอัยา เป็นเจ้าเมืองถลาง ด้านคุณหญิงจันซึ่งเป็นภรรยาเป็นแม่เมืองปกครองเมืองถลางด้วยความสงบสุข
  ครั้นเมื่อเจ้าเมืองเสียชีวิต คุณหญิงจันก็ถูกทหารไทยจับด้วยความเข้าใจผิดบางประการ ในช่วงเวลานั้นก็เป็นเวลาเดียวกับส่งครามเก้าทัพเริ่มต้นขึ้น กองทัพพม่าสามพันนายได้ยกทัพบุกตีค่ายปากพระจนแตก มีเป้าหมายสุดท้ายที่เมืองถลาง ขุมคลังของสยาม ข่าวทัพเรือบุกโจมตี กอปรกับเจ้าเมืองถลางเสียชีวิตเป็นข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลางให้อยู่ในความหวาดกลัว ไม่มีที่พึ่งหมดหวัง เรื่องราวรู้ถึงหูของคุณหญิงจัน ท่านจึงหลบหนีจากการจับกุม เพื่อมากอบกู้บ้านเมืองร่วมกับคุณมุก จนทั้งสองกลายเป็นแรงยึดเหนี่ยวให้คนทั้งถลางมีกำลังใจลุกขึ้นมาสู้กับข้าศึก เริ่มแรกท่านได้นำกำลังจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขนน บ้านลิพอน บ้านเหรียงมาเตรียมการรบ ณ ค่ายข้างวัดพระนางสร้าง
  ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาเร่งก่อสร้างค่ายบริเวณทุ่งนา เพื่อเตรียมโจมตีเมืองถลาง ด้านผู้หญิงจัน คุณมุกและคณะกรมการเมืองวางแผนสู้ศึก ได้เตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ดึงเวลาได้หลายวันเป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึกลวงพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังมาเสริมทุกคืน ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังเมืองถลางผิดพลาด และไม่กล่าผลีผลามเข้าตี การศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 1 เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่ กระทั่งวันหนึ่งชาวถลางได้ยิงปืนใหญแม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง ครั้นเมื่อชาวเมืองถลางยิงปืนใหญ่แม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญ และแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 เป็นวันถลางชนะศึก
  เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศอันมีศักดิ์แก่ฐานานุรูป
  อนุสาวรีย์ของทั้งสองท่านตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สร้างขึ่นในปี พ.ศ. 2509 จากหลักฐานสำคัญในจดหมายเหตุเมืองถลาง 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จเปิดถนนสายถลาง ที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี และได้มีการตั้งชื่อตำบลในภูเก็ต 2 ตำบลตามท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร คือตำบลเทพกษัตรีย์ และตำบลศรีสุนทรโดยจะมีการจัดงานรำลึกถึงท่านทุกปี

คำจารึก ที่อนุสาวรีย์ฯ โดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
"เมืองถลาง ปางพม่าล้อม ลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจัน รับสู้
ผัวพญาผิวอาสัญ เสียก่อน ก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้ เกียรติไว้ชัยเฉลิม
เริ่มรบรุกตลบต้าน โจมตี
ทั้งสกัดตัดเสบียงที ดักด้าว
พม่าอดหมดพลังหนี จากเกาะ กเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าว ไม่ท้อโถมหนอ"

ข้อความที่แท่นฐานทิศเหนือ ด้านหน้าอนุสาวรีย์
"ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2328
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ. 2509"